ในยุคที่สังคมให้ความสำคัญกับความสวยความงาม ธุรกิจเครื่องสำอางทั้งของผู้หญิงและผู้ชายจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากโฆษณาที่กล่าวอ้างถึงสรรพคุณทั้งในแง่ช่วยหน้าขาวใส ไร้สิว รูขุมขนกระชับ ช่วยลดริ้วรอยในเวลาชั่วข้ามคืน ช่วยชะลอวัยต้านอนุมูลอิสระ แต่ก่อนที่สาวๆหรือหนุ่มๆจะตัดสินใจควักเงินในกระเป๋า ขอให้คิดซักนิดว่า สิ่งที่กล่าวอ้างมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับหรือไม่ เรากำลังจ่ายเงินซื้อความฝันอยู่หรือเปล่า โดยทั่วไปทางองค์การอาหารและยาได้เสนอแนวทางการเลือกซื้อเครื่องสำอางคร่าวๆ ดังนี้
1. เลือกซื้อเครื่องสำอางตามสภาพผิวของเรา อย่าซื้อตามเพื่อน หรือตามโฆษณา
2. ซื้อเครื่องสำอางจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่นจากเคาน์เตอร์เครื่องสำอาง จากโรงพยาบาล ไม่ควรซื้อจากตลาดนัด อินเตอร์เนต ร้านค้าปลีก ที่ถึงแม้จะมีราคาถูก แต่เสี่ยงต่อการได้ของปลอม หรือของหมดอายุ
3. ให้ความสำคัญกับหีบห่อบรรจุภัณฑ์ เช็คดูว่าเนื้อครีมยังไม่เปลี่ยนสี/กลิ่น มีฉลากแจ้งวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ รวมถึงวิธีใช้ วิธีเก็บรักษาและข้อควรระวังอย่างชัดเจน
4. เครื่องสำอางออแกนิก สมุนไพร ไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป สามารถทำให้เกิดสิว ผื่นแพ้สัมผัส และผื่นแพ้แดดหน้าดำได้
5. ครีมที่มีส่วนประกอบของ สเต็มเซลล์ รกแกะ เปปไตด์ คอลลาเจน อาหารผิว ล้วนยังไม่เคยมีผลการศึกษายืนยันถึงประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
กรณีที่ไม่แน่ใจว่า เครื่องสำอางที่ซื้อมาใหม่จะก่อให้เกิดอาการแพ้หรือไม่ แนะนำให้ทำการทดสอบอย่างคร่าวๆที่เรียกว่า REPEAT OPEN APPLICATION TEST มีวิธีการ ดังนี้
ทาเครื่องสำอางที่ซื้อมาใหม่ ที่ท้องแขนในเวลาเช้า-เย็น โดยไม่จำเป็นต้องล้างออก เป็นเวลาต่อเนื่องกัน 7 วัน ถ้าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ค่อยเริ่มทาที่หน้า
เกล็ดความรู้
เวชสำอาง คืออะไร ต่างกับเครื่องสำอางยังไงนะ !?
เครื่องสำอาง
เครื่องสำอาง ความหมายก็คือ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ไม่ว่าเพื่อให้เกิดความสวยงาม ปัด ทา ถู นวด และ อีกมากมายเพื่อให้เกิดความสวยงาม แต่คุณสมบัติของ เครื่องสำอาง จะไม่สามารถรักษา บำบัด บรรเทา หรือมีฤทธิ์ในการรักษาได้ ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังได้ แต่สามารถปกปิดจุดด่างดำ รอยสิว บนผิวของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เวชสำอาง
เวชสำอาง มีคุณสมบัติเดียวกับเครื่องสำอาง แต่มีความสามารถในการรักษาอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น สิว, ริ้วรอย, จุดด่างดำ, ฝ้ากระ ให้กับผิวได้ คล้ายยา เลยทำให้มีฤทธิ์ในการรักษา และ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังได้ แต่ไม่ได้จัดว่าเวชสำอางเป็นยา ง่าย ๆ ก็คือ เป็นเครื่องสำอางที่มีผล’คล้าย’ยา แต่ไม่ใช่ยาเพราะไม่มีผลในการรักษาโรคนะจ๊ะ ซึ่งแปลว่าเมื่อใช้แล้วจะมีผลการเปลี่ยนแปลงทางลักษณะภายนอกเช่น ใช้แล้ว สิวลดลง ผิวดูตื้นขึ้น รอยสิวดูจางลง นั่นเอง
สรุปให้เข้าใจกันอีกครั้ง เครื่องสำอางมีความสามารถใช้เพื่อให้เกิดความสวยงามเท่านั้น กลไกการทำงาน ด้านการบำรุงจะเห็นผลได้ช้ากว่าเวชสำอาง แต่ในส่วนของ เวชสำอาง จะไม่เน้นเรื่องการเสริมความงาม แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องของการรักษา ปัญหา เฉพาะ ที่เป็นจุดประสงค์หลัก แต่ไม่จัดเป็นยา